วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หมอยาสมุนไพรรักษามะเร็ง วัดละมุดสุทธิยาราม อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง

หมอยาสมุนไพรรักษามะเร็ง วัดละมุดสุทธิยาราม
อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง
โดย นางวชิราภรณ์ เพ็ชรล้อม
รหัสนิสิต 5187259120
...............................
หลวงพ่อจำเนียร หมอยาสมุนไพรพื้นบ้าน เดิมชื่อ นายจำเนียร สูงส่ง อายุ 68 ปี เกิดที่ ตำบลบางระกำ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ชาวบ้านเรียกขานว่า “หลวงพ่อจำเนียร”บิดาชื่อ นายฉุย สูงส่ง มารดาชื่อ นางเพียร สูงส่ง เมื่อครั้งยังเด็กอายุประมาณ 8 ปี หลวงพ่อจำเนียร ได้มาอาศัยอยู่กับปู่เป้า (นายเป้า สูงส่ง) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หมอเป้า” พื้นเพเป็นคนตำบลไชโย เป็นหมอยาพื้นบ้านที่เก่ง เรื่องการใช้สมุนไพรรักษาคนเจ็บป่วยในหมู่บ้าน และมีชื่อเสียงเป็นหมอแผนไทยในอำเภอไชโย
การสืบทอดองค์ความรู้หมอยาพื้นบ้าน
หลวงพ่อจำเนียร เรียนรู้ สืบทอดการเป็นหมอยาจากบรรพบุรุษโดยตรง คือ ปู่เป้า เรียนรู้โดยวิธีการท่องจำ จดจำเอาให้ขึ้นใจ แบบปากต่อปาก ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร อาศัยว่ามีความใกล้ชิดกับปู่ ความอดทนและพากเพียรเรียนรู้ที่จะเป็นหมอยา ใช้ระยะเวลานานเป็นสิบปีในการเรียน การเรียนกับปู่ต้องคอยสังเกตว่าปู่รักษาคนไข้อย่างไร ปฏิบัติต่อคนไข้อย่างไร ปู่ได้สอนให้ท่านรู้จักรักษาศีล ปฏิบัติ ตนเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุตจริต ไม่พูดเท็จ มีคุณธรรมมีความเมตตา ต่อชาวบ้านที่มารักษาไม่คิดแต่เงินทอง ไม่เรียกค่ารักษาแบบขูดรีด โดยท่านได้เล่าว่า ปู่เป้าไม่สอนการรักษาโดยยาสมุนไพรให้ใครง่ายๆ แต่อยากถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานของตนเอง
โรคที่รักษา
หลวงพ่อจำเนียร เป็นหมอยาสมุนไพร ที่รักษาผู้ป่วยโดยใช้ยาหม้อ(ยาต้ม) ยาผง (ชงดื่ม) สามารถรักษาโรคได้แทบทุก ชนิด เป็นต้น ท่านรักษาทั้งคน และสัตว์ เช่น สุนัข ไก่ เป็ด หมู แต่โรคที่หลวงพ่อจำเนียร มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษและมีชื่อเสียง ชาวบ้านนิยมมารักษากับท่าน คือการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งมะเร็งมีหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก
วิธีการรักษา/ตรวจวินิจฉัยโรค
เมื่อชาวบ้านที่เจ็บป่วยมาหาหลวงพ่อจำเนียร เพื่อให้ทำการรักษา ท่านจะสอบถามอาการเบื้องต้นของโรคที่เป็น ว่าเป็นอะไร ตรงไหน อาการมากขนาดไหน สอบถามข้อมูลที่คนไข้เคยไปรักษาที่โรงพยาบาลมาก่อน และวิธีการกินอยู่ ลักษณะการทำงาน เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค ว่าคนไข้เป็นอะไร ต้องมีการดูธาตุของคนไข้แต่ละคนประกอบด้วย ว่าเป็นคนธาตุอะไร เพราะมีความสำคัญต่อการรักษา หลวงพ่อจำเนียรจะมีสมุดบันทึก อาการเจ็บป่วย ลักษณะธาตุของคนไข้แต่ละคน อายุที่แตกต่างกันไป การให้ยารักษาก็จะแตกต่างกันไปด้วย
การรักษาโดยจัดยามี 2 ลักษณะ
- ยาต้ม (ยาหม้อ)



ตัวยาที่โดดเด่นของหลวงพ่อจำเนียร คือสูตรยาที่ใช้รักษามะเร็ง สมุนไพรที่ใช้รักษามะเร็ง ซึ่งมะเร็งแต่ละชนิดมีสูตรยาไม่เหมือนกัน
ยาผง สูตรยาผง เป็นการใช้สมุนไพรหลายชนิดนำใบมาอบแห้งแล้วบดผสมกันจำนวน ๑๐๘ ชนิด(ร้อยแปดจำพวก) บดเป็นยาเขียว บรรจุซอง สมุนไพรที่นำมาบดรวมกันเช่น มะกา โคคาน เทียนเหลือง เหงือกปลาหมอ ต้นจาก หม่อนใบใหญ่ เต่าล้าง กระทกรกป่า โพทะเล ละหุ่ง นอกจากนี้จะมีสมุนไพรตัวสำคัญที่ต้องหาจากป่าที่อื่น ไม่สามารถปลูกได้เองก็ใช้วิธีการฝากให้คนไข้ที่มารักษา จากจังหวัดต่างๆช่วยหา หรือซื้อมาให้ เพื่อนำมาทำสูตรยา
สมุนไพรที่ใช้รักษา
สมุนไพรที่ใช้ในการรักษาของหลวงพ่อจำเนียร มีแหล่งที่มา 2 แหล่ง ได้แก่ การปลูกสวนสมุนไพรเองภายในวัด อีกทางหนึ่งคือ ซื้อจากร้านขายสมุนไพร ในจังหวัดอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียง
วิเคราะห์หมอยาสมุนไพร หมอยาพื้นบ้าน
ด้านคุณค่า
1. คุณค่าด้านเป็นภูมิปัญญา เป็นการรักษาผู้ที่เจ็บป่วยตามแบบวิถีไทยแบบโบราณ เป็นการพึ่งตนเองของชุมชน พึ่งพาธรรมชาติอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด การรักษาโดยหมอพื้นบ้านเป็นความรู้ที่ได้มีการคิดค้น สั่งสม ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานานตั้งแต่อดีต มีการลองผิด ลองถูกและใช้สมุนไพรในการรักษาผู้ที่เจ็บป่วย
2. คุณค่าด้านความสัมพันธ์ของคนในชุมชนท้องถิ่น การรักษากับหมอยาพื้นบ้านเป็น การพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนภายในหมู่บ้าน หรือชุมชน เป็นระบบความสัมพันธ์ของคนกับคน ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม หมอยาพื้นบ้านเคยเป็นเสาหลักให้กับคนในสังคมเมื่ออดีต เป็นความผูกพันและเอื้ออาทรกันระหว่างคนป่วยกับหมอยา ซึ่งเมื่อเทียบกับปัจจุบันแล้วการรักษาโดยหมอแผนใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างหมอและคนไข้แทบไม่มี การรักษากลายเป็นเรื่องการค้า
3. คุณค่าด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน การรักษาโดยหมอยาพื้นบ้าน(หมอสมุนไพร) หมอยาจำเป็นต้องอาศัยตัวยาสมุนไพรจากป่า ถ้าขาดป่าก็จะทำให้ไม่มีวัตถุดิบในการักษา ดังนั้น ชุมชุนจึงต้องช่วยกันรักษาป่า ซึ่งเป็นแหล่งของสมุนไพรจากธรรมชาติ เมื่อรักษาป่า ก็จะทำให้ระบบนิเวศมีความสมดุล เป็นการรักษาสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน เป็นการดึงทรัพยากรที่ใกล้ตัวชาวบ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์
4. คุณค่าด้านเศรษฐกิจ หมอยาพื้นบ้านจะใช้ตัวยารักษาที่ได้มาจากสมุนไพรซึ่งอาจหามาจากป่า หรือการปลูกสวนสมุนไพรเอง เป็นการลดการพึ่งพายาสมัยใหม่ ที่ผลิตและซื้อมาจากต่างประเทศ เป็นการประหยัดเงินงบประมาณด้านสาธารณะสุขของประเทศ ไม่ต้องซื้อยาที่ราคาแพง
ด้านลักษณะเฉพาะตัวของหมอยาพื้นบ้าน
เสน่ห์ของหมอยาสมุนไพร หมอยาพื้นบ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่มีลักษณะโดดเด่น มักถูกเลือกโดยบรรพบุรุษ ให้สืบทอดหน้าที่นี้ เป็นผู้ที่มีบทบาทสูงในสังคม ในการช่วยเหลือรักษาผู้ที่เจ็บป่วยในชุมชน เป็นที่พึ่งทางใจแก่คนป่วย หมอยาพื้นบ้าน มิได้มีหน้าที่แค่เพียงรักษาคนให้หายป่วยแบบวัฒนธรรมการแพทย์ตะวันตก เท่านั้น แต่จะดูแลคนไข้ให้มีร่างกายที่อยู่ในสภาพที่แข็งแรง และทำอย่างไรจึงจะไม่ป่วย เมื่อป่วยแล้วควรจะปฏิบัติตนอย่างไร และเมื่อถึงที่สุด ไม่สามารถรักษาได้ ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย จึงจะสามารถเผชิญกับความตาย ได้อย่างมีสติ มีศักดิ์ศรี ไม่ทุรนทุรายดิ้นรนเอาชนะความเจ็บป่วย หมอยามักเป็นบุคคลที่มีคุณธรรม มีศีลธรรม มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด มีความชาญฉลาด ลักษณะนิสัยอดทน ฝึกฝน ค้นคว้า จดจำ ได้รับความเคารพยกย่อง นับถือ จากคนในชุมชน มักมีสิทธิพิเศษหรือได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้าน เช่นในสมัยก่อนชาวบ้านจะมาช่วยทำนา ทำไร่ให้โดยไม่คิดอะไร เป็นการช่วยเหลือหมอยา ไปในตัว
ด้านเอกลักษณ์ของหมอยาพื้นบ้าน
หมอยาพื้นบ้าน เป็นการบำบัดรักษาโรคโดยอาศัยสมุนไพร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป เป็นการรักษาที่สมบูรณ์และหมดจดจากธรรมชาติ มีผลข้างเคียงน้อย มีความปลอดภัยสูง โอกาสที่ผู้ป่วยจะแพ้สมุนไพร เป็นไปได้น้อยมาก หมอยาพื้นบ้านจะมีประสบการณ์สูง มีทักษะความชำนาญในการรักษา เป็นภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้ ที่ทำหน้าที่รับใช้สังคมไทยมาช้านาน การรักษากับหมอยาพื้นบ้านจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ติดตามอาการคนไข้เป็นระยะ การรักษาหมอยามักซักถามอย่างละเอียดเพื่อเป็นข้อมูลในการวินิจฉัยโรค รวมทั้งใช้เวลาในการทำความเข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับคนไข้ รวมทั้งปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นทั้งหมด
การดำรงอยู่และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง
ในปัจจุบัน หมอยาพื้นบ้านส่วนใหญ่ มีอายุมากแล้ว จะมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และมักจะหวงวิชาหรือความรู้ ไม่ค่อยถ่ายทอดวิชาให้ใครง่ายๆ ประกอบกับในปัจจุบันนี้ผู้คนหันไปสนใจการแพทย์แผนใหม่ที่มีการรักษารวดเร็วทันใจ เข้ามามีบทบาทสูงในสังคมของไทย ทำให้หาคนที่จะสืบทอดภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้ด้านนี้ได้ยาก หมอยาพื้นบ้านของไทยซึ่งแต่เดิมเคยมีบทบาทและคุณค่าที่สูงกลับถูกมองข้ามไป เป็นผลให้ภูมิปัญญาที่ล้ำค่ากำลังจะสูญหาย
แนวทางการอนุรักษ์
1. ควรมีการศึกษาวิจัยและจัดระบบข้อมูลองค์ความรู้ ของหมอยาพื้นบ้านแต่ละประเภท ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ มีข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวหมอยาพื้นบ้าน พัฒนาการเกี่ยวกับการรักษาที่มีมาอย่างยาวนาน
2. การเผยแพร่ข้อมูล ถ่ายทอดองค์ความรู้ของหมอยาพื้นบ้านแก่คนรุ่นใหม่ หรือผู้ที่มีความ สนใจทั่วไป และทุกภาคส่วนของสังคม เกี่ยวกับการบำบัดรักษา และฟื้นฟูร่างกายตาม หลักการของหมอพื้นบ้าน พัฒนาแหล่งเรียนรู้ ที่เกี่ยวกับแพทย์แผนไทยให้มีความแพร่หลาย เช่น ศูนย์การเรียนรู้ด้านแพทย์แผนไทย ชมรมหมอพื้นบ้าน เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาที่เป็นมรดกล้ำค่าของคนไทย
3. รัฐควรมีการจัดสวัสดิการ หรือจัดสรรงบประมาณ ส่งเสริมการรักษาโดยหมอพื้นบ้านหมอยาสมุนไพรให้แก่ชุมชน ท้องถิ่น เช่นเดียวกับการจัดสวัสดิการในโรงพยาบาลของรัฐ ให้หมอยาพื้นบ้าน เป็นทางเลือกสำหรับประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพโดยอาศัทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน คือสมุนไพร นำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสมดูแลตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งให้แก่ชุมชน เป็นการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น อย่างเหมาะสม
4. ส่งเสริมให้สถานศึกษา ได้จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษา ภูมิปัญญา จากหมอยาพื้นบ้านในชุมชนโดยตรง การนำเด็กเข้าป่าศึกษาสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชนของตนเอง เรียนรู้วิถีทางการรักษาของหมอยาพื้นบ้าน
5. พัฒนาตัวหมอยาพื้นบ้านโดยตรง จัดให้มีระบบการรักษาที่เป็นมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากในปัจจุบัน ประชาชนมักมองว่าหมอยาพื้นบ้านเป็นการหลอกลวงงมงาย ไม่น่าเชื่อถือรักษาแบบผิดๆถูกๆ หรือบางครั้งก็มองว่าเป็นหมอเถื่อน นอกจากนี้รัฐต้องดูแลจัดสวัสดิการที่ดีแก่ตัวภูมิปัญญา (หมอยาพื้นบ้าน) ให้หมอยาพื้นบ้านสามารถอยู่ในสังคม ชุมชนได้อย่างมีศักดิ์ศรี
หมอยาสมุนไพร หมอยาพื้นบ้านลดโลกร้อนได้อย่างไร
วิถีทางที่ดีที่สุด ที่จะช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้คือ การที่คนเราต้องปรับตัวเข้าหาธรรมชาติให้มากที่สุด ลดการทำลายธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ใช้วิถีการดำเนินชีวิตแบบไทย ใช้ภูมิปัญญาของไทย เช่น หมอพื้นบ้าน หมอยาสมุนไพร ซึ่งต้องอาศัยสมุนไพรจากป่าใช้ในการรักษา ดังนั้นเมื่อชุมชนอยากรักษาสมุนไพรไว้ก็ต้อง รักษาผืนป่าของชุมชนไม่ให้ถูกทำลาย
โดยเฉพาะป่าไม้ที่มีสมุนไพรหายาก มักเกิดในผืนป่าใหญ่ เป็นป่าไม้ที่เรียกว่าป่าเขตร้อน ของประเทศไทย ป่าไม้ ช่วยควบคุมและแก้ไขมลภาวะทางอากาศ และช่วยฟอกอากาศให้กับโลก โดยจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจก รักษาอุณหภูมิของโลกให้คงที่ ปล่อยไอน้ำเข้าสู่ชั้นบรรยากาศช่วยเพิ่มความชื้น สุดท้ายช่วยปกคลุมพื้นดินจากแสงแดด ลดความร้อนของโลกชะลอการเกิดภาวะโลกร้อนสร้างความสมดุลให้กับสภาพแวดล้อมบนโลก

วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552